doctorkaset@hotmail.com
02-190-6097-8
เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลเป็นแมลงศัตรูข้าวประเภทปากดูด อยู่ในอันดับโฮม็อพเทอร่า แมลงที่อยู่ในอันดับนี้ ได้แก่ แมลงประเภทเพลี้ยต่างๆ เช่น เพลี้ยกระโดด เพลี้ยจักจั่น แมลงหวีขาว เพลี้ยแป้ง เป็นต้น เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลมีความเฉพาะเจาะจงต่อพืชอาหารเพียงชนิดเดียวคือข้าว เท่านั้น ทั้งระยะตัวอ่อนและตัวเต็มวัยจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากเซลล์ท่อน้ำ ท่ออาหารบริเวณโคนต้นข้าวเหนือน้ำ ต ้นข้าวจะแสดงอาการ ใบเหลืองเหี่ยวแห้งตายเป็นหย่อมๆ เรียกว่า อาการฮ็อพเพอร์เบิร์น นอกจากนี้เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลยังเป็นแมลงพาหะน้ำเชื้อโรคไวรัส ซึ่งเป็นสาเหตุของโรค ใบหงิก หรือโรคจู๋
นายสุเทพ สหายา นักกีฏวิทยาชำนาญการพิเศษ กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลเกิดการระบาดรุนแรงหลายประเทศในเอเชีย เช่น จีน เวียดนาม อินเดีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา ลาว มาเลเซีย และไทย สำหรับประเทศไทยนั้น กรมส่งเสริมการเกษตรได้รายงานเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2552 ว่ามีการระบาดมากกว่า 13 จังหวัด พื้นที่ความเสียหายมากกว่า 2 ล้านไร่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช ทำการทดสอบหาสารที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล “กลุ่มกีฏและสัตววิทยาได้นำสารที่เคยแนะนำในการป้องกันกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในนาข้าวซึ่งเกิดอย่างรุนแรงเมื่อประมาณเกือบสิบปีมาแล้ว นำมาทดสอบทั้งรูปแบบสารเดี่ยวที่เพิ่มอัตราการใช้แล้ว กับการผสมสาร 2 ชนิด ที่มีกลไกการออกฤทธิ์แตกต่างกันและผสมสารฆ่าแมลงกับสารเสริมประสิทธิภาพมาทำการทดสอบในสภาพรุนแรงเช่นปัจจุบัน”
การระบาดรุนแรงในปัจจุบัน เรียกว่า เป็นการระบาดมากกว่าระดับเศรษฐกิจ (Economic threshold) โดยทดสอบในแปลงข้าวที่มีการระบาดอยู่ในระดับ 100-200 ตัวต่อกอ ผลพบว่าทุกวิธีการไม่มีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลที่ระบาดในปัจจุบัน ดังนั้น วิธีที่จะลดความรุนแรงของการระบาดที่เหมาะสมที่สุดในระยะวิกฤตนี้ คือ การเว้นการปลูกข้าวในช่วงนี้เพื่อเป็นการตัดวงจรชีวิตของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลและ
การปลูกข้าวในฤดูกาลถัดไป เกษตรกรต้องดูแลเอาใจใส่แปลงให้เข้มข้นมากกว่าปกติ
สาเหตุการระบาด มีหลายปัจจัยด้วยกัน คือ
1. มีการปลูกข้าวตลอดทั้งปีโดยไม่พักดิน ปัจจุบันในเขตชลประทานมีการทำนา 6-7 ครั้ง/2 ปี ซึ่งข้าวมีอายุประมาณ 110-120 วัน ทำให้ไม่มีการพักดิน ทำให้เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลมีแหล่งพืชอาหารตลอดปี ทำให้เพลี้ยมีวงจรชีวิตต่อเนื่องหลายชั่วอายุในช่วงเวลาเดียวกัน ส่งผลให้ลูกหลานของเพลี้ยพัฒนาความต้นทานต่อสารฆ่าแมลง ทำให้การพ่นสารไม่ได้ประสิทธิผลเท่าที่ควร
2. การปลูกข้าวพันธุ์ไม่ต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เพลี้ยระบาด ดังนั้นชาวนาต้องเลือกปลูกข้าวพันธุ์ต้านทานต่อการทำลายของโรคและแมลง ซึ่งจะทำให้ลดปัญหาของศัตรูข้าวตั้งแต่ต้น แต่ปัญหาก็คือ ชาวนาชอบปลูกพันธุ์ข้าวที่พ่อค้าให้ราคาดี ซึ่งไม่ต้านทานต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล นอกจากนี้การใช้พันธุ์ข้าวที่ไม่ใช่พันธุ์ที่ทางราชการแนะนำ อาจไม่ใช่พันธุ์บริสุทธิ์อาจมีการปลอมปน อีกประการหนึ่งก็คือ การปลูกข้าวพันธุ์เดียวกันเป็นพื้นที่บริเวณกว้าง เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เพลี้ยปรับตัวเข้าทำลายได้
3. การใช้สารเคมีบางชนิดอาจทำให้เกิดการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลเพิ่มขึ้น เช่น การใช้สารเคมีกลุ่มไพรีทรอยด์สังเคราะห์หรือกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟตบางชนิดป้องกันกำจัดแมลงชนิดอื่น เช่น หนอนกอ อาจทำให้เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลซึ่งอาจมีอยู่เพียงเล็กน้อยเพิ่มการระบาดมากขึ้นได้ และอาจมีสาเหตุเกิดจากสารบางชนิดไปทำลายตัวห้ำตัวเบียนของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล
สาเหตุการใช้สารป้องกันกำจัดไม่ได้ผล ประกอบด้วยหลายปัจจัย คือ
1. การหว่านข้าวที่หนาแน่นเกินไป ทำให้การพ่นสารไม่ทั่วถึง เนื่องจากเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลจะอยู่ที่บริเวณโคนต้น ถ้าต้นข้าวแน่นเกินไปจะทำให้สารที่พ่นไปไม่ถูกตัวเพลี้ย โดยเฉพาะการใช้เครื่องยนต์พ่นสารชนิดใช้แรงลมจะมีปัญหามาก เนื่องจากส่วนใหญ่สารจะถูกแรงลมตกลงส่วนบนต้นข้าวมากกว่าส่วนล่าง ดังนั้นชาวนาควรเลือกเครื่องพ่นสารที่สามารถกดหัวฉีดให้ละอองสารลงให้ถูกโคนต้นข้าว
2. การใช้ที่ไม่มีประสิทธิภาพ ปัจจุบันสารเคมีแบ่งกลุ่มตามกลไกการออกฤทธิ์ ซึ่งจะมีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น สำหรับสารเคมีที่มีประสิทธิภาพในช่วงการระบาดที่ยังไม่รุนแรง ได้แก่กลุ่มนีโอนิโตนอยด์ เช่นไดโนทีฟูแรนด์ ไทอะมีโทแซม คลอไทอะนิดิน อิมิดาคลอพริด เป็นต้น กลุ่มฟินิลไพราโซล เช่น อิทิโพร์ล กลุ่มคาร์บาเมท เช่น ฟีโนบูคาร์บ ไอโซโพรคาร์บ คาร์โบซัลแฟน กลุ่มสารยับยั้งการสร้างไคติน หรือยับยั้งการลอกคราบของแมลง เช่น บูโพรเฟซีน (ใช้ได้เฉพาะตัวอ่อน) กลุ่มไพรีทรอยด์สังเคราะห์ เช่น อีโทเฟนพร็อก (เป็นสารเพียงชนิดเดียวในกลุ่มไพรี-ทรอยด์ที่ยังแนะนำให้ใช้ในนาข้าว) และสารผสม 2 กลุ่มกลไกการออกฤทธิ์ เช่น บูโพรเฟซิน + ไอโซโพรคาร์บ
จากข้อมูลหลายๆ ประเทศ พบว่าการปล่อยให้เพลี้ยกระโดด สีน้ำตาลระบาดรุนแรงเป็นร้อยตัวต่อกอ การใช้สารเคมีจะไม่ได้ผล ดังนั้นหลังจากที่มีการงดปลูกข้าวอย่างน้อย 2 เดือนแล้ว การปลูกข้าวในฤดูกาลหน้า ต้องมีวิธีการจัดการเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลโดยวิธีผสมผสาน ดังนี้
ขั้นแรก เลือกพันธุ์ข้าวที่มีความต้านทานต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และไม่ควรปลูกข้าวพันธุ์เดียวกันเป็นพื้นที่บริเวณกว้าง เพื่อลดโอกาสที่เพลี้ยจะปรับตัวไม่ง่าย
ขั้นที่สอง ต้องทำการสำรวจแปลงนาทุกสัปดาห์หลังจากข้าวงอก ถ้าพบจำนวนตัวอ่อนของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล แต่ยังไม่ถึง 10 ตัวต่อกอให้ใช้สารชนิดใดชนิดหนึ่งในกลุ่มนิโอนิโคตินอยด์ดังกล่าวข้างต้น
ถ้าเริ่มพบมากกว่า 10 ตัวต่อกอ ให้ใช้สารบูโพรเฟซีน หรือสารชนิดใดชนิดหนึ่งในกลุ่มคาร์บาเมท ดังกล่าวข้างต้น กรณีที่รุ่นแรงมากขึ้นควรใช้สารบูโพรเฟซีนผสมกับคาบาร์เมทชนิดใดชนิดหนึ่ง โดยให้ใช้อัตราเดียวกับการพ่นสารเดี่ยว โดยไม่ต้องลดปริมาณเนื่องจากจะทำให้เพลี้ยรุ่นลูกหลานพัฒนาความต้านทานได้ ข้อสำคัญ คือ ไม่ควรปล่อยให้การระบาดรุนแรง เพราะการป้องกันกำจัดจะไม่ได้ผลเนื่องจากการระบาดรุนแรงจะทำให้มีเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลทุกระยะในแปลงนาช่วงเวลาเดียวกัน เช่น ระยะไข่ ระยะตัวอ่อนทุกวัย รวมทั้งระยะตัวเต็มวัย ทำให้การใช้สารควบคุมได้เพียงระยะสั้นๆ หลังจากพ่นสาร 3 หรือ 5 วัน ก็จะพบตัวอ่อนที่เพิ่งฟักออกมาอีกทำให้ต้องพ่นสารบ่อยครั้ง ซึ่งนอกจากจะไม่ได้ผลแล้ว ยังเปิดโอกาสให้เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลสร้างความต้านทานต่อสารเคมี ดังเช่นที่พบในปัจจุบัน
สำหรับระยะยาวชาวนาควรใช้ระบบการปลูกพืชเข้าช่วยด้วย โดยปลูกข้าวไม่เกิน 2 ครั้งต่อปี ช่วงเวลาที่เหลืออาจเว้นการปลูกเพื่อพักดินหรือปลูกพืชตระกูลอื่นสลับ เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ข้าวโพดฝักอ่อน ข้าวโพดหวาน หรือพืชปรับปรุงดิน เช่น ถั่วพร้าหรือปอเทือง เป็นต้น “แม้ว่าการปลูกพืชอื่นอาจได้รับผลตอบแทนน้อยกว่าการทำนา แต่เป็นการตัดวงจรชีวิตของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล รวมทั้งศัตรูข้าวชนิดอื่น ๆ เช่นโรค แมลงชนิดอื่น หรือข้าววัชพืชเป็นต้น ซึ่งจะส่งผลให้ในฤดูถัดไป อาจลดต้นทุนในการป้องกันกำจัดศัตรูข้าว และลดต้นทุนค่าปุ๋ยไนโตรเจนได้ ในกรณีการปลูกพืชตระกูลถั่วสลับ ทำให้ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยของการปลูกพืชสลับจะใกล้เคียงกับการทำนาอย่างเดียว นอกจากนี้ยังเป็นการจัดการเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลอย่างยั่งยืนอีกด้วย”
ในขณะที่ข้าวราคาตกต่ำ เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลกำลังระบาดอย่างไม่หยุดยั้ง เกษตรกรจะฉุกคิดและหันมาใช้วิธีการทำนาแบบสลับกับพืชอื่นที่ต้นทุนการผลิตต่ำกว่าการทำนาในช่วงระยะหนึ่ง ลงทุนน้อยได้ผลตอบแทนน้อย ก็คงจะดีกว่าลงทุนมากแต่ได้ผลตอบแทนไม่คุ้มค่าลองหันมา ใช้วิธีการปลูกพืชสลับนาตามที่กรมวิชาการเกษตรแนะนำดูบ้างเป็นไร
บทความ - กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร