doctorkaset@hotmail.com
02-190-6097-8
“ หอยเชอรี่ ” เป็นศัตรูพืชสำคัญที่ทำลายข้าวในนา หากกำจัดโดยใช้สารเคมี จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้ ปู ปลา และสัตว์น้ำในแปลงนาตายไปด้วย หมอเกษตร ทองกวาว จึงแนะนำวิธีควบคุมและกำจัดหอยเชอรี่อย่างถูกวิธี
หอยเชอรี่ เข้ามาอาละวาดในนาข้าวของประเทศไทย จากที่เคยมีการบันทึกไว้อย่างเป็นทางการครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2525 โดยมีผู้เลี้ยงปลาตู้นำพันธุ์มาจากประเทศญี่ปุ่นและไต้หวัน ด้วยวัตถุประสงค์ต้องการนำมาเลี้ยงประดับในตู้ปลาและนำกลับไปจำหน่ายยังประเทศญี่ปุ่น แต่เมื่อมีปริมาณหอยเชอรี่มากเกินความต้องการ จึงมีผู้นำไปทิ้งลงในลำคลอง
หอยเชอรี่แพร่ระบาดรุนแรงมากขึ้นในปี พ.ศ. 2531 ที่ตำบลศีรษะจรเข้น้อย อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ในเวลาไล่เลี่ยกันพบว่า มีการระบาดเข้ากัดกินข้าวในนาอย่างหนักที่เขตมีนบุรี หนองจอก และลาดกระบัง และในปี 2537 ต่อเนื่องปี 2538 เกิดน้ำท่วมภาคกลางหลายจังหวัดเป็นเวลานาน ทำให้หอยชนิดนี้ระบาดทำลายนาข้าวครอบคลุมพื้นที่รวมถึง 60 จังหวัด ดังนั้น หอยเชอรี่จึงเป็นศัตรูของชาวนาอยู่ในอันดับต้นๆ ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
“หอยเชอรี่” เป็นหอยน้ำจืดชนิดหนึ่ง บางคนเรียกว่า หอยโข่งอเมริกาใต้ และเป๋าฮื้อน้ำจืด หอยเชอรี่มีรูปร่างคล้ายหอยโข่ง สีเปลือกมีทั้งสีน้ำตาลอ่อน และสีเขียวอมดำ ส่วนของเนื้อหอยมีตั้งแต่สีเหลืองอ่อนไปจนถึงสีเหลืองเข้ม ขนาดหอยเต็มวัย เมื่ออายุ 3 เดือน จะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ประมาณ 2.5 เซนติเมตร
เพศเมียหลังผสมพันธุ์แล้วมีนิสัยชอบวางไข่เหนือระดับผิวน้ำ เป็นกลุ่มสีชมพู จำนวนกลุ่มละ 400-3,000 ฟอง ต่อครั้ง ในช่วงฤดูฝนสามารถวางไข่ได้ 10-14 ครั้ง ไข่จะฟักออกเป็นตัว ภายใน 7-12 วัน เมื่อฟักออกจะทิ้งตัวตกลงในน้ำ หากินสาหร่ายสีเขียวเป็นอาหาร ช่วงนี้ลูกหอยเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว เมื่อมีขนาด 1.6 เซนติเมตร จะเริ่มกัดกินต้นกล้าข้าวเป็นอาหาร ที่ระดับใต้ผิวน้ำลงไปประมาณ 1 นิ้ว ทำให้ลำต้นขาดหักล้มลอยอยู่ผิวน้ำ
หอยเชอรี่จะเข้ากัดกินทุกส่วนที่เหลือจนหมด คิดเฉลี่ยประมาณที่กินอาหารในแต่ละวันไม่น้อยกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ของน้ำหนักตัว นอกจากหอยเชอรี่เข้ากัดกินข้าวเป็นอาหารแล้ว ยังกัดกินผักบุ้ง ผักกระเฉด บัว ผักตบชวา และกระจับ เป็นอาหารได้อีกด้วย
วิธีป้องกันกำจัดหอยเชอรี่ ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่อย่างถูกต้อง เหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หากใช้สารเคมีที่มีพิษรุนแรงเกินความจำเป็น ดังนั้น เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าวที่จะเกิดขึ้น คุณชมพูนุท จรรยาเพศ นักวิชาการเกษตร กรมวิชาการเกษตร แนะว่า ให้ใช้ตาข่ายไนล่อนตาถี่กรองน้ำระหว่างระบายหรือสูบน้ำเข้านา ป้องกันตัวอ่อนหรือไข่หอยเชอรี่ลอยไปกับน้ำและเก็บทำลาย ปักซี่ไม้ไผ่ที่ขอบคันนาห่างกันทุกๆ 5-8 เมตร เพื่อล่อให้หอยมาวางไข่ทิ้งไว้ หมั่นเก็บทำลาย หรือนำไปทำปุ๋ยน้ำหมัก
หากพบหอยและไข่หลงเหลือในแปลงนาให้ใช้สวิงตาถี่ช้อนเก็บออกจากแปลง นำไปทำลายทิ้งหรือทำปุ๋ยน้ำหมักและหากพบการระบาดรุนแรงให้ใช้นิโคลซาไมด์ มีชื่อการค้าว่า ไบลุสไซด์ 70 เปอร์เซ็นต์ ดับบลิวพี อัตรา 50 กรัม ละลายน้ำ 1-2 ปี๊บ ฉีดพ่นให้ครอบคลุมพื้นที่ 1 ไร่ หรือใช้เมทัลดีไฮด์ ชื่อการค้า แองโกล-สลั้ก 5 เปอร์เซ็นต์ หว่านลงในแปลงนา อัตรา 0.5-1.0 กิโลกรัม ต่อพื้นที่ 1 ไร่ หรือใช้กากชาบดละเอียด หว่านในแปลงนา อัตรา 3 กิโลกรัม ต่อไร่ หรือใช้คอปเปอร์ซัลเฟต อัตรา 1 กิโลกรัม ต่อไร่ ละลายน้ำฉีดหรือใช้บัวรดน้ำ รดให้ทั่วแปลง
คำเตือนในการใช้สารเคมีในการกำจัดหอยเชอรี่ ให้ใช้สารเคมีชนิดใดชนิดหนึ่งเพียงครั้งเดียวในหนึ่งฤดูปลูก การใช้สารเคมีต้องมีน้ำในนาลึก 5 เซนติเมตร เป็นอย่างน้อย และไม่ควรใช้สารเคมีในวันที่มีฝนตก ประการสำคัญ การกำจัดหอยเชอรี่ห้ามใช้สารเอ็นโดซัลแฟนอย่างเด็ดขาด เพราะจะทำลายสภาพแวดล้อมอย่างรุนแรง ดังนั้น ขอให้เกษตรกรทุกท่านร่วมมือกันปฏิบัติตามคำแนะนำของนักวิชาการดังกล่าว เพื่อลดปัญหามลพิษในไร่นาให้บรรเทาเบาบางลงหรือหมดไปในที่สุด ขอบคุณที่ท่านปฏิบัติตามคำแนะนำ
บทความ -technologychaoban